วัดบางพระวรวิหาร ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา
โดยพระครูวรคามคุณาภรณ์ อดีตเจ้าอาวาส วัดบางพระวรวิหาร (ม.ป.ป.) บันทึกประวัติของวัดนี้ไว้ว่า วัดบางพระ ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นวัดราษฎร์มหานิกาย ดั้งเดิมมาแต่โบราณอาจสร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ หรือสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางของชุมชุนบางพระ ชายชาวบางพระที่อายุครบบวชเกือบทั้งหมดจะบวชที่วัดนี้ ต่อมาเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อ วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค พร้อมด้วยเจ้าจอมและข้าราชบริพาร โดยเรือพระที่นั่งลำใหญ่ชื่อ “โผเผ่นทะเล” และเรือกลไฟที่สร้างขั้นใหม่ในครั้งนั้นชื่อ “เรือพระที่นั่งสยามอรสุมพล” เป็นเรือลากจูง เสด็จประพาสหัวเมืองชายฝั่งทะเลฝั่งตะวันออกของอ่าวสยามไปถึงจังหวัดตราด ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับยังตำบลอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี ซึ่งได้จัดพลับเพลาเป็นที่ประทับชั่วคราว ณ หัวแหลม ตำบลอ่างศิลา ประดับด้วยหินในทะเล ก่อเป็นท่าเรือแบบชนบท ทรงมีพระราชดำริว่า ที่ดินชายทะเลตำบลอ่างศิลานี้อากาศดี จึงโปรดเกล้าฯให้พระยาศรีสุริยวงศ์ สมุหกลาโหม มาปลูกสร้างให้เป็นตึกที่ประทับถาวรขึ้นที่หัวแหลม ตำบลอ่างศิลา สำหรับที่จะเสด็จมาประทับในโอกาสหน้า และจะไว้ให้ฝรั่งที่ป่วยเจ็บมาพักรักษาตัวเป็นการกุศลอีกด้วย ตำบลอ่างศิลาจึงเป็นสถานที่พักตากอากาศชายทะเลแห่งแรกที่นิยมกันตามฝรั่งในสมัยนั้น สำหรับการเสด็จประพาสในครั้งนี้ ได้เสด็จไปเยี่ยมกองทหารเรือที่บางพระซึ่งสมัยนั้นกองทัพเรือตั้งอยู่ที่บางพระ ยังไม่ได้ย้ายไปสัตหีบ และทรงเยี่ยมข้าราชการที่ว่าการอำเภอบางพระ ซึ่งขณะนั้นตั้งอำเภอ ตั้งอยู่ที่บางพระ ปัจจุบันย้ายที่ว่าการอำเภอไปอยู่ที่ศรีราชา ในระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินตรวจกองทหารที่ข้าราชการที่อำเภอบางพระนั้น ได้เสด็จแวะเพื่อสักการะตามพระราชอัธยาศัย ได้มีผู้กราบบังคมทูลว่า พระอุโบสถที่วัดบางพระสร้างมานานเครื่องบนและทรวดทรงต่างๆชำรุดทรุดโทรมมาก หาผู้ใดบูรณปฏิสังขรณ์ไม่ได้ ด้วยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีน้ำพระทัยเต็มเปี่ยมในการบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญยิ่งขึ้น ประกอบกับวัดนี้ตั้งอยู่ใกล้บริเวณกองทหาร และที่ว่าการอำเภอบางพระ จึงทรงพระราชดำริ เห็นเป็นการสมควรจะได้บูรณะซ่อมแซมใหม่ให้ดีขึ้น ดั้งนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาทิพากรวงศ์มหาโกศาธิบดี (ขำ บุญนาค) แบ่งจ่ายภาษีอากรสถาปนาให้ดีขั้น เปลี่ยนเครื่องบนเสียใหม่และเสริมผนังให้สูงขึ้นไปจากเดิมอีกสองศอก ต่อมุขหลังให้ยาวออกไป กับสร้างเจดีย์สูง 5 วาขึ้นหลังพระอุโบสถอีกหนึ่งองค์
ทั้งนี้วัดบางพระได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ซึ่งในสมัยนั้นพระอุโบสถวัดบางพระสวยงามเป็นหนึ่งในภาคตะวันออกโดยบันทึกของพระครูวรคามคณาภรณ์ มีบันทึกของพระครูวรคามคณาภรณ์ กล่าวด้วยว่า ในปลายรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้อีกครั้งหนึ่งในสมัยหลวงพ่อฉิ่ง และสมัยพระครุวรกัณฑราจารย์ (บู๊ เจริญศรี) เป็นเจ้าอาวาส โดยมีอาจารย์รูปหนึ่งในวัดเป็นผู้มีฝีมือในการก่อสร้าง การปฏิสังขรณ์ครั้งนั้นได้จัดทำกำแพงแก้วล้อมรอบพระอุโบสถจากของเดิมที่เป็นไม้ พร้อมกับเปลี่ยนช่อฟ้าใบระกา และเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาใหม่ทั้งหมด
พระอุโบสถวัดบางพระ ได้ใช้เป็นที่บรรพชา อุปสมบท และรับกฐินพระราชทานเรื่อยมา ภายหลังผู้ขอรับพระราชทานกฐินต่างมีความเห็นว่าพระอุโบสถหลังนี้เล็ก คับแคบ สภาพเก่า ชำรุดทรุดโทรมมาก ดังนั้นเมื่อคราวกฐินพระราชทาน ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งมีพลตรีหม่อมทวีวงศ์ ถวัลยศักดิ์ เป็นประธาน เห็นสมควรจะได้ประกอบการกุศลสร้างอุโบสถเสียใหม่จึงได้นำเรื่องขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชาทานพระราชานุญาต เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างใหม่ได้ตามที่ขอพระราชทาน จึงมีการก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ในเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช 2507 ตามแบบของกรมศิลปากร เครื่องบนนั้นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้สนับสนุนเงินสร้าง
ตัวพระอุโบสถที่สร้างใหม่ กว้าง 8 เมตร ยาว 21.40 เมตร สูงจากพื้นดินถึงอกไก่ 14.50 เมตร ก่อด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เครื่องบนประกอบด้วยไม้ตะเคียน ประตูหน้าต่างทำด้วยไม้สักทั้งแผ่นแกะสลักลวดลายและสร้างพระประธานเพิ่มขึ้น 1 องค์ ใหญ่กว่าพระประธานองค์เดิม มีกำแพงแก้ว และซุ้มเสมารอบบริเวณพระอุโบสถการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย เมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช 2510